|
อ่างเก็บน้ำเขาเต่า อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
พระราชดำริเมื่อ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบัน เสด็จเยือนประชาชนในเขตหัวหิน ทรงเห็นความลำบากของประชาชนในหมู่บ้านเขาเต่า ซึ่งมีประชากรอยู่กันอย่างหนาแน่น ขาดแคลนน้ำที่จะใช้อุปโภค - บริโภค และช่วงน้ำทะเลขึ้นสามารถไหลเข้าท่วมพื้นที่เกษตรทุ่งตะกาดทำให้ผลผลิตเสียหายพร้อมกันนี้ราษฎรได้รวมตัวกันน้อมเกล้าถวายที่ดินแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำนวน 300 ไร่ จึงมีพระราชดำริพร้อมมอบทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 60,000 บาทให้กรมชลประทาน ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเขาเต่า ซึ่งนับเป็นโครงการตามพระราชดำริ แห่งแรกของกรมชลประทานด้วยเช่นกัน
สถานที่ตั้ง บ้านเขาเต่า ตำบลหนองแก อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
วัตถุประสงค์ของโครงการ
โครงการอ่างเก็บน้ำเขาเต่าเป็นโครงการเพื่อจัดหาแหล่งน้ำสำหรับอุปโภค-บริโภค ให้แก่ประชาชน ในหมู่บ้านชายทะเลเขาเต่า
สภาพทั่วไป
เดิมก่อนปีพุทธศักราช 2506 สภาพภูมิประเทศของบริเวณทุ่งตะกาด ตำบลหนองแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประกอบด้วย ด้านทิศตะวันตกเป็นภูเขา ชื่อเขาอีหรุ่น เป็นเส้นแบ่งปันน้ำของลุ่มน้ำ สภาพพื้นดินลาดเอียงไปทางทิศตะวันออก ซึ่งเป็นชาวฝั่งทะเล และมีถนนเพชรเกษมและทางรถไฟกั้นขวางระหว่างความลาดเอียงนั้น มีพื้นที่ลุ่มน้ำ 8 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 5,000ไร่ มีปริมาณฝนตกเฉลี่ยจาก 3 สถานี วัดน้ำฝนได้ 990 มิลลิเมตร ปริมาณน้ำทั้งหมดไหลลงทุ่งตะกาด จำนวน 4 ลำห้วย คือ ลำห้วยหุบตาเจี๊ยบ ลำห้วยเขาน้อย ลำห้วยหุบประดิษฐ์ และลำห้วยเจ็กกัง จากนั้นไหลออกสู่ทะเล
ระยะเวลาก่อสร้าง 1 ปี (พ.ศ.2506)
รายละเอียดโครงการ
กรมชลประทานได้ดำเนินการออกแบบและก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเขาเต่าแล้วเสร็จใน ปีพุทธศักราช 2506 ในการนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินทำพิธีเจิมเสาเข็ม พืดท่อระบายน้ำ เมื่อวันที่ 9 เมษายน2506 ในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำสามารถเก็บกักน้ำได้ 600,000 ลูกบาศก์เมตร โดยก่อสร้างทำนบดินกั้นน้ำ ที่ระดับ + 4.00 เมตร (ร.ท.ก) ขนาดหลังคันกว้าง 1.50 เมตร ยาว 1,500 เมตร พร้อมอาคารระบายน้ำ เป็นท่อคอนกรีตเสริมเหล็ก จำนวน 1 แห่ง ขนาด เส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เมตร ใช้เงินงบประมาณ 1 ล้านบาทและได้ทำการปรับปรุงขยายท่อระบายน้ำจากอ่างและบานบังคับน้ำบานสี่เหลี่ยม ขนาด 1.50 x 1.50 จำนวน 1 ท่อ ค่าปรับปรุงประมาณ 800,000 บาท ปรับปรุงเสร็จในปีพุทธศักราช 2519
สำหรับสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำเขาเต่าในระยะแรกเค็ม เนื่องจากพื้นดินเดิมเค็ม ในระยะต่อมาน้ำค่อยจืดขึ้น ในปัจจุบันนี้สภาพน้ำยังมีรสกร่อยเล็กน้อย กรมชลประทานจึงได้ระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำเพื่อชะล้างความเค็มของดินในอ่างเก็บน้ำ
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1.น้ำสำหรับอุปโภค – บริโภค ของชุมชนเขาเต่า
ในปี พ.ศ. 2519 – 2520 โครงการฯ ปราณบุรี ก่อสร้างท่อส่งน้ำดิบสายปราณบุรี – หัวหิน เสร็จ จึงมีการต่อท่อน้ำดิบ ขนาด Ø 8” มาลงที่อ่างเก็บน้ำเพื่อการอุปโภค – บริโภค และเพื่อการเกษตร แต่เนื่องจากความเค็มยังมีอยู่จึงไม่ก่อประโยชน์มากนัก
ในปี พ.ศ. 2522 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เจ้าหน้าที่ชลประทาน เข้าเฝ้า ณ พระตำหนักพระราชวังไกลกังวล เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2522 ได้มีพระราชดำรัสให้ กรมชลประทาน พิจารณาสร้างอ่างเก็บน้ำบริเวณหาดทรายใหญ่ เพื่อใช้สำหรับการอุปโภค-บริโภค มีปริมาณน้ำน้ำเก็บกักประมาณ 10,000 ลูกบาศก์เมตร
ในปี พ.ศ. 2523 ได้มีการต่อท่อน้ำดิบไปที่อ่างเก็บน้ำหาดทรายใหญ่ โดยออกจากท่อน้ำดิบ สายปราณบุรี –หัวหิน(สายเก่า) เป็นท่อซีเมนต์ใยหินขนาด Ø 8” แล้วแยกเป็นท่อเหล็กเหนียวขนาด Ø 3” ไปที่หาดทรายใหญ่กับต่อท่อให้ราษฎรไปใช้สำหรับผู้บริโภค – บริโภค ในหมู่บ้านและวัดเขาเต่า จึงทำให้ราษฎรในบริเวณเขาเต่า หมดความจำเป็นที่จะใช้น้ำในอ่างเก็บน้ำเขาเต่าตั้งแต่ปี 2523 เป็นต้นไปจนถึงปัจจุบัน
ปัจจุบันมีระบบประปาหมู่บ้านโดยใช้น้ำจากท่อน้ำดิบสายปราณบุรี-หัวหิน (สายเก่า) ในการผลิตประปาหมู่บ้าน แต่ก็ยังใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำเขาเต่าเป็นแหล่งน้ำสำรองเพื่อใช้ในการผลิตประปาหมู่บ้าน
2.การประมงหาเลี้ยงชีพของราษฏรชุมชนเขาเต่า
3.แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดเนื่องจากเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริแห่งแรกของกรมชลประทาน
ความก้าวหน้าของโครงการ
แล้วเสร็จ 100 %
|